สิวเสี้ยน

สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ตั้งแต่วัยรุ่น วัยกลางคน จนถึงวัยสูงอายุก็พบได้ สิวเสี้ยนเกิดจากความผิดปกติของต่อมรูขน (pilosebaceous follicles) โดยมีลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ (black comedone) และมีกระจุกขนเล็กๆหลายเส้น ( vellous telogen hair ) แทรกอยู่ในหัวสิวอุดตันนั้นด้วย มีลักษณะเป็นจุดดำๆ เล็กๆ ตามใบหน้า หรือมีหนามแหลมๆ ยื่นออกมาทางรูขุมขนจำนวนมาก มักพบบริเวณปลายจมูก หน้าผาก ข้างแก้ม บริเวณคาง คอด้านหลัง ไหล่ หรือที่หลังบริเวณกระดูกสะบัก สิวเสี้ยน ในความหมายนี้คือกระจุกของเส้นขนอ่อนเล็กๆ หลายสิบเส้น และเซลผิวหนังที่ตายแล้ว (keratin) อุดตันอยู่ในรูขุมขน ไม่ยอมผลัดร่วงไปตามปกติ อีกความหมายหนึ่งของสิวเสี้ยนนั้น ผู้ป่วยใช้ในความหมายของก้อนไขมันอุดตันที่เรียกว่า คอมีโดน (comedone) ปกติท่อต่อมไขมันและรูเปิดของรูขุมขนจะเชื่อมต่อกัน เมื่อต่อมไขมันผลิตไขมันแล้ว ไขมัน (sebum) นี้ จะออกมาตามรูขุมขนเพื่อทำหน้าที่ฉาบเคลือบผิวหนังด้านนอกให้มีความชุ่มชื้น ไม่แห้ง บางครั้งต่อมไขมัน ผลิตไขมันมากเกินไป ทำให้ไขมันหลั่งออกมาไม่ทัน เกิดเป็นก้อนอุดตันขึ้นมาในท่อรูขุมขน เรียกว่า ก้อนไขมันอุดตัน หรือคอมีโดน นั่นเอง บางครั้งก้อนไขมันอุดตันไม่มีรูเปิด ทำให้เห็นเป็นสิวหัวขาวฝังอยู่ในผิวหนัง สิวเสี้ยนที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือสิวเสี้ยนในความหมายแรก สิวเสี้ยนหรือขนอุดตันเหล่านี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่มีความสัมพันธ์กับโรคอื่น นอกจากเป็นปัญหาในด้านความสวยงาม คือก่อให้เกิดความรำคาญเท่านั้น

สิวเสี้ยนเกิดได้อย่างไร 

กลไกการเกิดของสิวเสี้ยน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการสร้างเซลล์ขนมากผิดปกติ โดยมักจะเกิดบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ดังนั้นผู้ที่มีผิวมันหรือบางบริเวณของผิวหนังที่มันมักจะเกิดสิวเสี้ยนได้ง่าย การเกิดสิวเสี้ยน มักจะเริ่มจาก มีการอุดตันเกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ มีการผลิตไขมันออกมาสู่ผิวจำนวนมาก จึงเกิดการอุดตันในรูขุมขน คล้ายคลึงกับสิวที่เกิดตามธรรมชาติ และไขมันที่ถูกสร้างขึ้นนั้นจะรวมตัวกับเซลล์ชั้นขี้ไคลจากผนังท่อ กลายเป็นก้อนที่เรียกว่า คอมีโดน ลักษณะสำคัญของสิวเสี้ยน ที่ต่างจากสิวธรรมดา คือ นอกจากจะมีการอุดตันของไขมัน หรือคอมีโดน เป็นก้อนขาวๆแล้ว ยังมีขนที่คุดคู้อยู่ข้างในด้วย คือในรูขุมขนแทนที่จะมีขนเพียง 1 เส้น แต่กลับมีขนอ่อนเส้นเล็กๆหลายเส้นอัดกันแน่น รวมตัวกับเซลล์ชั้นขี้ไคล และถูกห่อหุ้มด้วยผนังท่อต่อมไขมัน เกิดการอุดตัน และทำให้การหลุดร่วงของเส้นขนเล็กๆนั้นไม่เป็นไปตามปรกติคือหลุดออกได้ยากกว่าปกติ ถ้าลองบีบดูจะเห็นเป็นเส้นสีขาวเหมือนตัวหนอน และหากส่องด้วยแว่นขยาย จะเห็นขนอ่อนจำนวนมาก ประมาณ 6-50 เส้น ทำให้นอกจากมีลักษณะเป็นจุดดำๆ แล้ว ยังมีหนามแหลมๆ ยื่นออกมา มองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะเวลาใช้มือคลำจะรู้สึกสะดุดเป็นหนาม
ลักษณะของสิ้วเสี้ยนที่เกิดบริเวณปลายจมูก

 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยน 

1. ฮอร์โมนเพศในร่างกาย ซึ่งมีผลกระตุ้นต่อมไขมัน ให้ทำงานมากขึ้น ผลิตไขมันออกมามาก อาจทำให้เกิดการอุดตันได้ง่ายขึ้น 
2. การรบกวนผิวมากๆ เช่น การเช็ดถูหน้าแรงๆ, การขัดหรือนวดหน้า ซึ่งอาจรบกวนรูขุมขน หรือต่อมไขมัน ทำให้รูขุมขน หรือรากขนนั้นแตก ขนจึงมีโอกาสที่จะคุดอยู่ข้างในได้ 

การรักษาสิวเสี้ยน

1. การทายารักษาสิวเสี้ยน 

1.1) ใช้กรดวิตะมินเอ (retinoic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยละลายการอุดตันของต่อมไขมัน ลดการเกาะตัวของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณรูขุมขน จึงป้องกันการเกิดสิวเสี้ยนใหม่ และทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกได้ง่าย ข้อควรระวังคือ กรดวิตะมินเอ ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้ง่าย อาจทำให้ผิวแห้ง แสบและลอก และหน้าแดงได้ จึงควรทากรดวิตะมินเอ เฉพาะบริเวณจมูก หน้าผาก หรือคางที่มีสิวเสี้ยน วันละครั้งก่อนนอน หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตา รอบจมูก หรือรอบปากซึ่งผิวหนังบริเวณดังกล่าวนี้บางกว่าบริเวณอื่น ส่วนใหญ่ควรทากรดวิตะมินเอ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อน ถ้าสิวเสี้ยนไม่หลุดออกมาเอง อาจกดออก โดยมากมักจะเริ่มเห็นผลว่าสิวเสี้ยนมีปริมาณลดลง เมื่อใช้ยาชนิดนี้นาน 3-4 เดือน บางรายอาจทำให้มีสิวมากขึ้นในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกของการใช้ยาได้ และควรใช้ครีมกันแดดทาทั่วหน้าในตอนเช้า เพราะการทากรดวิตะมินเอนั้น อาจทำให้ผิวหน้าไวกว่าปกติ หากโดนแสงแดดอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหน้าได้

1.2) ใช้ยาทากลุ่มเบนซิลเปอร์ออกไซด์ ( benzoyl peroxide) โดยใช้ทาทั่วหน้าก่อนล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้าและเย็น หรือก่อนนอน แล้วทิ้งไว้ 5 -10 นาที หรืออาจทิ้งไว้นานกว่านี้ได้ ถ้าผู้ใช้มีผิวมัน และรับยาได้ดี แล้วจึงล้างหน้าออกด้วยน้ำสะอาด ยานี้ออกฤทธิ์โดยลดปริมาณไขมันที่ผิวหนัง และช่วยละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันตามรูขุมขน จึงลดการอุดตันของต่อม
ไขมันได้ แต่อาจทำให้หน้าแดง แสบ แห้งเป็นขุยได้ เริ่มต้นควรใช้ขนาดความเข้มข้นต่ำก่อน เมื่อผิวหนังเริ่มชินกับยา จึงเพิ่มระยะเวลาให้ยาสัมผัสผิวนานขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของยาได้ ไขมันที่อุดตันมักถูกละลายโดยยาทาทั้ง 2 ชนิดนี้ แต่ขนที่คุดเป็นเส้นดำๆ อยู่ใต้ผิวนั้นมักจะไม่ยอมหลุด อาจต้องใช้วิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การกดออก ยาทาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนได้ จึงควรใช้ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียวก่อนก็ได้ ถ้าไม่ได้ผล อาจให้ใช้ยา 2 ชนิดร่วมกัน

2. การใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยน โดยอาจจะอยู่ในรูปของแผ่นแปะจมูกที่เคลือบสารที่ทำให้ติดแน่น แปะที่จมูกและทิ้งไว้ระยะหนึ่ง แล้วค่อยดึงออก หรือ ใช้สาร cyanoacrylate polymer glue ซึ่งมีคุณสมบัติในการติดแน่น คล้ายคลึงกับกาวตราช้าง ทาบนแผ่นสไลด แล้วนำไปวางบริเวณที่มีสวเสี้ยน แล้วดึงออก สิวเสี้ยนจะหลุดติดออกมา วิธีนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ราคาไม่แพง พอทำ ให้สิวเสี้ยนหลุดออกได้บ้าง แต่มักกำจัดสิวเสี้ยนได้ไม่หมด และไม่สามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้ทุกที่ แต่ควรระมัดระวัง เพราะสารเคมีที่ใช้ อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ และไม่ควรใช้เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 

3. ใช้เครื่องมือกดสิว ( comedone extractor ) กดตามบริเวณที่เป็นสิวเสี้ยนดำ ถ้าเป็นสิวหัวดำก็จะมีก้อนไขมันสีดำกลมๆ เล็กๆ ผุดออกมา ถ้าเป็นสิวเสี้ยนชนิดเส้นขนอุดตันก็จะได้กระจุกของเส้นขนอุดตัน แต่วิธีนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ ผิวหนังระคายเคืองได้ และหากกดไม่ถูกวิธี สิวอุดตันอาจจะแตกออกจากท่อรูขุมขนโดยยังฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ 

4. การลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ (chemical Peeling) เป็นกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการลอกหลุดของเซลล์ผิวหน้า รวมทั้งไขมันที่อุดตัน ด้วยกรดผลไม้ (Alpha Hydroxy Acid: AHA) หรือ trichloracetic acid (TCA) ทำให้สิวเสี้ยนง่ายต่อการกดออก อย่างไรก็ตาม การลอกผิวหน้าหรือการกดออกมักได้ผลในระยะเวลาสั้นๆ อาจต้องทายาร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ 

5. มาสก์ผิวด้วยไข่ขาว เป็นวิธีที่เก่าแก่ แต่ช่วยให้สิวเสี้ยนลอกตัวออกมาได้บ้าง โดยทาไข่ขาว บางๆ ที่จมูกหรือข้างแก้ม แล้วนำกระดาษซับหน้าเพียงชั้นเดียว หรือกระดาษชำระคลี่ให้บาง แปะทับลงไป ปล่อยให้แห้ง แล้วจึงดึงออก จะมีสิวเสี้ยนหลุดติดออกมาด้วย 

6. การใช้เครื่อง IPL (intense pulse light) เนื่องจากสิวเสี้ยน คือ กระจุกขนที่อัดแน่นบริเวณรูขุมขน การกำจัดขนด้วยเครื่อง IPL จึงสามารถทำให้ขนที่คุดคู้เหล่านี้หลุดออกได้ เมื่อทำควบคู่กับการลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ และการทายารักษาสิวเสี้ยน วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเกิดเซลล์ขนใหม่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย และสามารถทำได้ทุกบริเวณของร่างกายที่มีสิวเสี้ยน

7. การใช้เลเซอร์ มักจะกำจัดจุดดำๆ จากสิวเสี้ยนได้มากกว่าร้อยละ 50 และเมื่อทำหลายๆ ครั้งสามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้เกือบหมด แต่ไม่ช่วยในเรื่องรูขุมขนที่กว้าง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสิวเสี้ยนได้อีก หลังทำอาจมีผลข้างเคียงคือรอยแดงบริเวณรูขุมขน ประมาณ 2-3 วัน รอยแดงดังกล่าวมักจะหายได้เอง วิธีนี้ใช้ได้ผลดีในกรณีของสิวเสี้ยนหัวดำ แต่ค่าบริการค่อนข้างแพง สิวเสี้ยนนั้น หากไม่รำคาญมากนัก อาจทิ้งไว้เฉยๆ ก็ได้ เพราะธรรมชาติมักจะค่อยๆขจัดออกไปเอง ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนจากการใช้ยาหรือการใช้กรรมวิธีต่างๆ ที่กล่าวมา สิวเสี้ยนนั้น ยังไม่มีวิธีที่จะรักษาให้หายขาดได้ 100 % ภาวะดังกล่าวสามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม

การป้องกันการเกิดสิวเสี้ยน 

การรักษาสิวควรควบคู่กับการป้องกัน เพราะรูขุมขนที่กว้างนั้น ง่ายต่อการเกิดการหมักหมม ของสิ่งสกปรกและจุลินทรีย์ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้รูขุมขนกว้าง และการรบกวนรูขุมขน เช่น การนวดหน้า การขัดหน้า การเช็ดถูหน้าแรงๆ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ใช้ยาทาป้องกัน สิวเสี้ยนพวกกรดวิตะมินเอ และเบนซิลเปอร์ออกไซด์ หลังจากล้างหน้าแล้วควรใช้โทนเนอร์ที่ไม่ผสมน้ำมัน เช็ดสิ่งสกปรกที่ตกค้างออก และอาจลอกหน้าด้วยกรดผลไม้ เพื่อขจัดเซลล์ที่ตายแล้วอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หรือ ทุก 2 สัปดาห์ ไม่ควรบีบหรือ กดสิวเอง เพราะอาจทำให้เกิดสิวอักเสบ และการติดเชื้อลุกลามได้ คนผิวมัน มีโอกาสเกิดสิวเสี้ยนได้ง่าย เนื่องจากต่อมไขมันมีขนาดโต และมีปริมาณน้ำมัน ออกมาฉาบผิวค่อนข้างมาก จึงเกิดการอุดตันปิดปากรูขุมขนได้ง่าย การลดความมันของใบหน้า จึงช่วยป้องกันการเกิดสิวเสี้ยนได้ 

วิธีลดความมันของผิวหน้าและลดการอุดตันของรูขุมขน 

1. เลือกใช้เครื่องสำอางที่ช่วยดูดซับความมันของผิว และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเนื้อเบา ชนิดโลชั่นจะดีกว่าชนิดครีม และใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย จะช่วยลดการอุดตันบริเวณรูขุมขน 

2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA ซึ่งช่วยผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวที่ตกค้างออก และลดการเกิดสิวเสี้ยนได้ 

3. เครื่องสำอางหลายชนิด มีส่วนผสมของกรดวิตะมินเอ ซึ่งนอกจากจะช่วยต่อต้านริ้วรอยแล้ว ยังช่วยเร่งการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวด้วย แต่ข้อเสียคือ อาจเกิดการแพ้ได้ง่าย จึงอาจเลือกใช้วันเว้นวัน และควรทาตอนผิวแห้งสนิท เนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างกรดวิตะมินเอกับน้ำ อาจทำให้ผิวลอกตัวมากขึ้น และควรเลือกใช้เครื่องสำอางชนิดที่ไม่มีไขมัน (oil free) เป็นส่วนประกอบ 

4. การซับหน้าในระหว่างวัน โดยใช้กระดาษซับหน้า กดซับความมันที่ผิวออก เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยลดความมันของผิวได้เช่นกัน 

5. การอบไอน้ำให้กับผิว ช่วยทำความสะอาดผิวหน้า ลดสิ่งสกปรกที่คั่งค้างบนผิวได้ดี เหมาะสำหรับคนผิวมัน ควรทำสัปดาห์ละครั้ง 

6. การล้างหน้า ควรล้างด้วยสบู่อ่อน (ที่ใช้สารเคมีที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดสิว) ที่เหมาะสำหรับผิว และน้ำสะอาด วันละไม่เกิน 2 ครั้ง ไม่ควรล้างหน้านานๆ หรือถูแรง ๆ การใช้สบู่มากเกินไปอาจทำให้เกิดสิวได้ 

7. ควรรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วน รับประทานไขมันให้น้อยที่สุด รับประทานผักสด ผลไม้มากๆ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว

ที่มา: http://www.si.mahidol.ac.th